Monday, June 25, 2007

 

จะบัญญัติ "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" หรือไม่ คนไทยก็ควรไตร่ตรองด้วยปัญญา

ว่าจะเขียนเรื่อง การรณรงค์ให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ มานานแล้ว ก็ไม่ได้เขียนเสียที จนกระทั่งเมื่อวันเสาร์ได้รับหนังสือ "เจาะลึกหาความจริง! เรื่องศาสนาประจำชาติ" โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) จัดพิมพ์โดย สภาองค์กรพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย อ่านแล้วรู้สึกว่า ได้รับธรรมอันประเสริฐจากท่านเจ้าคุณอีกครั้ง มองเห็นแสงสว่างของปัญญาจากความขัดแย้งภายในบ้านเมืองในเรื่องนี้

หนังสือเล่มนี้เป็นการนำคำบรรยายของท่านเจ้าคุณเมื่อ 13 ปีก่อนโน้น ซึ่งอยู่ระหว่างการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 เช่นเดียวกัน โดยท่านได้ตัดบ้างเติมบ้างให้ข้อมูลทันสมัยขึ้น แต่เนื้อหาหลักยังคงเดิม ผมอ่านดูแล้วพบว่า สังคมไทยไม่เรียนรู้อะไรจากอดีตเลย บรรยากาศการรณรงค์เรื่องนี้เมื่อ 13 ปีก่อนก็เหมือนกับปัจจุบัน กล่าวคือ ต่างคนต่างก็พยายามแสดงความเห็น โดยไม่มีความรู้ความเข้าใจ และไม่สนใจที่จะหาความรู้ ตัวอย่างประเด็นสำคัญที่ควรจะถกกันแต่ก็ไม่มีใครพูดถึง เช่น นิยามของศาสนาประจำชาติของแต่ละกลุ่มเหมือนกันหรือไม่ อย่างไร, มีใครทราบกันบ้างหรือไม่ว่าในโลกนี้มีประเทศใดบ้างที่บัญญัติเรื่องศาสนาประจำชาติ บัญญัติแล้วผลเป็นอย่างไร ฯลฯ

สสร.ชุดนี้ก็แปลก เมื่อเห็นว่ามีการเรียกร้องให้บัญญัติ "พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ" ในรัฐธรรมนูญ แทนที่จะรับมาพิจารณา และจัดทีมศึกษาแลกเปลี่ยนความรู้ความคิดเห็นกัน กลับใช้วิธีท้าทาย เสียดสี พระสงฆ์ที่รณรงค์เรื่องนี้ เลยเถิดไปถึงเรื่องการกล่าวหาเรื่องการรับเงินจากกลุ่มธรรมกายเพื่อเบี่ยงประเด็นจากสาระของเรื่อง ทางด้านผู้สนับสนุนให้บัญญัติบางคนก็เหมือนกัน แทนที่จะรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน แต่กลับใช้วิธีเหมือนม็อบทั่วไปคือฮือพังประตูเข้าไปในสภา ดูแล้วไม่ค่อยจะสอดคล้องกับธรรมะในพุทธศาสนาซักเท่าไหร่ (แต่ก็มีพระสงฆ์และชาวพุทธหลายกลุ่มที่รณรงค์ตามหลักธรรมเช่นเดียวกัน อย่างสภาองค์กรพระพุทธศาสนาฯ ที่จัดพิมพ์หนังสือเล่มที่ผมว่าไว้)

จริงๆแล้ว ผมคิดว่า สสร.น่าจะส่งตัวแทนหรือตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้โดยไปค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้และรับฟังความคิดเห็นจากพระเถระชั้นผู้ใหญ่ พระสงฆ์ทั่วไป พุทธศาสนิกชน รวมถึงศาสนิกชนศาสนาอื่นด้วย แล้วจึงนำมาตั้งโจทย์ว่า การบัญญัติเรื่องนี้เป็นไปเพื่ออะไร ได้ประโยชน์อย่างไร ผลกระทบคืออะไร และนำมาสู่ข้อสรุปว่าจะบัญญัติหรือไม่บัญญัติ แม้ว่าจะบัญญัติก็ควรมีแนวทางว่าจะทำอย่างไรให้เกิดประโยชน์จากการบัญญัติไว้

วรรคทองของหนังสือเล่มนี้มีอยู่จำนวนมาก ที่น่าสนใจมากก็คือ "พระพุทธศาสนาไม่ใช่มีเพื่อตัวเอง ถ้าจะทำ เราไม่ได้ทำเพื่อพระพุทธศาสนานะ เราจะต้องมีความคิดว่า ที่ทำนี้ เราทำเพื่อสังคมไทยและเพื่อมนุษยชาติ" แปลว่า ผู้รณรงค์ให้บัญญัติควรระลึกไว้ตลอดว่า เราทำเพื่อให้สังคมไทยและมนุษยชาติได้อุดมธรรมที่จะแก้ปัญหาของโลก ไม่ใช่ทำเพียงเพื่อว่าจะได้มีประโยคว่า พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ แค่นั้น หรือทำเพื่อให้ศาสนาพุทธจะได้ยิ่งใหญ่ ถ้าทำอย่างนั้น ก็ไม่ใช่พุทธแล้ว

ตอนท้ายของหนังสือ ท่านเจ้าคุณประยุทธ์ ได้ตั้งคำถามในเรื่องนี้ไว้ 2 ข้อ คือ

ข้อ 1 ถามว่า จำเป็นไหม และถึงเวลาหรือยัง ที่ชาติไทย สังคมไทยนี้ จะต้องมีอุดมการณ์สูงสุด ที่รวมความคิดจิตใจของคนในชาติ และจะต้องมีสิ่งที่เรียกว่าอุดมธรรมนำจิตสำนึกของชีวิตและสังคม เราจะต้องมีสิ่งนี้หรือยัง หรือจะอยู่กันไปวันๆ เรื่อยๆ เปื่อยๆ ปล่อยให้ปัญหาความเลวร้ายต่างๆรุมล้อมรุกไล่สังคมต่อไป และปล่อยชีวิตปล่อยสังคมไปตามกระแสเสพกระแสไสย์ ที่เราตามมาอย่างประมาทอ่อนแอและอย่างไม่รู้ไม่เข้าถึงไม่เท่าทันนั้น 

ข้อ 2 ถามว่า ถ้าจำเป็นและถึงเวลาจะต้องมี อะไรเหมาะสมที่สุดที่จะมาเป็นอุดมการณ์สูงสุด และเป็นอุดมธรรมที่จะนำจิตสำนึกของสังคมนี้ ด้วยเหตุผลและปัจจัยแวดล้อมต่างๆที่กล่าวมานั้น

ต่อจากนั้น มีคำถามย่อยอีก 2 ข้อ คื

1. อุดมการณ์อะไร หรือสิ่งใดที่สังคมไทยยึดถือเป็นอุดมการณ์แล้ว จะทำให้ประเทศไทยเรานี้มีอะไรที่จะให้แก่โลกได้บ้าง และจะทำให้สังคมไทยเปลี่ยนจากภาวะของตน จากความเป็นผู้รับและเป็นผู้ตาม ไปสู่ความเป็นผู้นำและผู้ให้

2. อุดมการณ์อะไร ที่ยึดถือแล้ว จะได้ผลในการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ โดยที่พร้อมกันนั้นก็ไม่กดขี่บีบคั้นใครอื่น แต่กลับมีผลในทางช่วยเหลือเกื้อกูลด้วย

ขอให้พิจารณาคำถามเหล่านี้ และตอบด้วยใจเป็นธรรม ไม่เอนเอียง และใช้ปัญญา

ผมอ่านหนังสือของท่านเจ้่าคุณประยุทธ์แล้วพิจารณาตอบคำถามของท่านด้วยใจเป็นธรรม ไม่เอนเอียง และใช้ปัญญา ผมเห็นด้วยว่า ศาสนาพุทธเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นอุดมธรรมของประเทศไทย จึงเห็นด้วยที่จะบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ ด้วยเหตุนี้ มิใช่ด้วยเหตุผลอย่างอื่น


This page is powered by Blogger. Isn't yours?

Subscribe to Posts [Atom]